ประวัติ ตำนาน เมืองฝาง แม่อาย และชุมชนตำบลบ้านหลวง
เราต้องยอมรับว่าในอดีตกาล พวกเราอยู่ในเขตปกครองอำเภอฝาง โดยแท้จริงดังนั้นเราควรจะรู้ว่าเมืองฝางนั้นมีความเป็นมาอย่างไรในที่นี้เราควรรู้จัก ประวัติศาสตร์ การสร้าง ตำนานลานนา 9 ยุค เมืองฝางพอสังเขปดังนี้
- ลวจักราช (พ.ศ.7-1300) บางฉบับ ลวจังกราช-ลาวจก
- พระยาขอมดำ (พ.ศ .1300-1318)
- สิงหนวัติกุมาร (พ.ศ.1318-1477)
- พระเจ้าพรหมมหาราช (พ.ศ.1477-1807)
- มังรายมหาราช (พ.ศ.1808-2101) บางฉบับเม็งรายมหาราช
- พม่า (พ.ศ.2101-2317)
- พญากาวิละ (พ.ศ.2317-2417)
- พระยาสุริโยยศ (พ.ศ.2417-2478)
- ยุคปัจจุบัน (พ..ศ2475-2546)
ซึ่งทั้ง 9 ยุคนั้นความเป็นมาของเมืองฝางอาศัยคำบอกเล่า บางครั้งก็เป็นตำนานเล่าขานสืบกันมา และที่บันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ก็มีมาก ถ้าจะศึกษาให้ละเอียดจะต้องศึกษาในองค์ความรู้ให้มากกว่านี้ ถึงจะสมกับคำว่าเราเป็นคนเมืองฝางในอดีต โดยเป็นมาตั้งแต่บรรพบุรุษ กว่าจะมาเป็นคนแม่อาย คนตำบลบ้านหลวง มีความเป็นมามากมาย ซึ่งแต่ละยุคแต่ละสมัย นั้น น่าศึกษาและนำมาเปรียบเทียบในยุคปัจจุบันว่าแตกต่างกันอย่างไร
ในทีนี้จะขอเล่าตำนานเพียงสังเขป โดยจะเริ่มต้นที่พระเจ้าฝางทรงพระนามว่า พระเจ้าฝางอุดมสินครองเมืองฝางเป็นอิสระ อพยพครอบครัวมาจากเชียงแสน ประมาณ 5 พันครอบครัว พระเจ้าอุดมสินมีเชื้อกษัตริย์เชียงแสน ทรงปกครองด้วยทศพิศราชธรรม พลเมืองอยู่เป็นสุข ความมั่งคั่งเป็นของเมืองฝางในสมัยพระองค์ได้ทรงสร้างวัด พระพุทธรูป และปูชนียสถานมากมาย ตามหลักฐานซึ่งปรากฏอยู่ พระเจ้าฝางมีมเหสีชื่อ พระนางสามผิว มีพระศิริโฉมงดงามมาก ซึ่งความงามของพระนางได้เล่าลือไปถึง พระเจ้าสุทธโธ กษัตริย์พม่า จึงปลอมตัวเข้ามาเมืองฝาง พอได้เห็นพระศิริโฉมของพระนางสามผิว จึงกลับไปพม่า ยกทัพมาล้อมเมืองฝางถึง 3 ปี จึงตีเมืองฝางแตก พระเจ้าฝางอุดมสินกับพระนางสามผิวจึงชวนกันกระโดดน้ำบ่อซาววา แต่มีตำนานบอกว่า ผู้ที่ตายในบ่อน้ำนั้นไม่ใช่พระเจ้าอุดมสิน แต่เป็นมหาดเล็กกับนางสนมกระโดลงบ่อน้ำเพื่อให้กษัตริย์พม่าได้เชื่อ บางตำนานกล่าวว่า พระเจ้าอุดมสินกับพระชายาหนีไปเมืองกุสินารายณ์ ประเทศอินเดีย
บางตำนานกล่าวว่าเจ้าแม่มะลิกาซึ่งเป็น ราชบุตรีที่ครองเมืองมะลิกา ได้พาทหารซึ่งเป็นหญิงทั้งหมดมาช่วยเหลือไป พม่าเมื่อตีเมืองฝางแตกแล้ว ให้เจ้าหมวกคำ ครองเมืองฝาง ต่อมาเจ้าหมวกคำกลับไปครองเมืองเชียงแสน พม่าให้นายทัพชื่อ โป่เงี้ยว มาคุมชาวเมืองฝาง และหัวเมืองพม่าที่ยึดได้ กดขี่ข่มแหงราษฎรราษฎรบางพวกก็อพยพไปอยู่ป่าเขา ซ่องสุมเป็นโจร
ขอข้ามมายัง พ.ศ. 2205-2231 ลานนาก็พ้นจากอำนาจพม่าแต่ก็ไปขึ้นกับกรุงศรีอยุธยา ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ต่อมา พ.ศ.2220 ลานนาก็ตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าอีก พม่าก็รวบรวมไพร่พลจากเชียงใหม่ไปตีกรุงศรีอยุธยา จึงเสียกรุงครั้งที่ 2 ใน พ.ศ. 2310 และต่อมาในปี พ.ส. 2327-2330
เมืองฝางมีพญาสุรินทร์ ร่วมกัน เจ้าเมืองพร้าว เจ้าเมืองเชียงราย เมืองสาด เมืองปุ พร้อมใจกันต่อสู้กับพม่าแต่สู้พม่าไม่ได้ พม่ามีแม่ทัพใหญ่ชื่อ อะแซหวุ่นกี้ มีทัพใหญ่เข้ามาปราบปราม พญาสุรินทร์กับพวกจึงสู้ไม่ได้จึงหนีไปทิ้งให้เมืองฝางร้างไป ซึ่งในสมัยนั้นเป็นยุคของพระเจ้าเอกทัศน์ ซึ่งเป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายของกรุงศรีอยุธยา เป็นลำดับที่ 35 ซึ่งกรุงศรีอยุธยาเริ่มตั้งแต่ ปี พ.ศ. 1893 ถึง 2310 รวมเป็นเวลา 417 ปี
ลานนา อยุธยาตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าทั้งหมด ซึ่งต่อมาพญาตากก็รวบรวมไพร่พลต่อสู้กับพม่าจนชนะ กู้กรุงศรีอยุธยาปลดเอกจากพม่าในปี พ.ศ. 2311 ครองราชย์ ทรงพระนามว่าพระเจ้าตากสิน ในปี พ.ศ. 2312 คน ไทยแตกเป็นก๊กเป็นเหล่า มี 5 ก๊กด้วยกันคือ ก๊กชุมชนเจ้านคร ก๊กชุมชนพระเจ้าฝาง ก๊กชุมชนพษณุโลก ก๊กชุมชนพิมาย ก๊กชุมชนพระเจ้าตาก พญาตากก็ปราบก๊กจนหมดสิ้นครองราชย์สร้างเมืองใหม่ชื่อว่า กรุงธนบุรี พระเจ้ากรุงธนบุรียกทัพไปปราบพม่าร่วมกันพญากาวิละ ในปี พ.ศ. 2317 และได้ยึดเมืองเชียงใหม่จากพม่า สรุปแล้วลานนาตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าเป็นเวลา 216 ปี วัฒนธรรมประเพณีพม่าได้มีอิทธิพลต่อคนลานนาคือ สร้างสิงห์ไว้ประตูวัด ห่อหุ้มเจดีย์ด้วยทอง นับถือพระอุปคตแบบพม่า บวชลูกแก้วหรือสามาเณรแต่งตัวเป็นเจ้าชาย พีฟ้อนผีมด ผีเม็ง(เม็งคือมอญ) สักขาดำเต็มตัว หัวแขน เหล่านี้สิบทอดมาจากพม่าทั้งสิ้น
เมืองฝางสมัยรัตนโกสินทร์
ตามหนังสือประวัติศาสตร์ได้เขียนไว้ว่า พวกเจ้านายจากราชตระกูลเชียงใหม่เข้ามาล่าสัตว์ได้พบกับพระพุทธรูป ที่สวยงาม วัดร้าง ต่าง เมื่อล่าสัตว์ได้เนื้อแห้งและสัตว์ต่างๆ ก็กลับเมืองเชียงใหม่ ได้ทูลพระเจ้าอินทรวิชยานนท์ ได้ทรงทราบ พระเจ้าอินทรวิชยานนท์ จึงให้เจ้าราชสัมพันธ์ เกณฑ์คน ครัวเรือน ขึ้นมาซ่อมแซมปฏิสังขร ตัวเมือง การมาครั้งนี้พร้อมด้วยคนสนิทสองคน คือพญาสุริฌยยศ ชาวบ้านเรียกพญาหลวง อีกคนหนึ่ง คือพญาน้อย คนที่มาอพยพมาครั้งแรกในเมืองฝาง ส่วนมากมาจากคนที่อยู่ทางทิศใต้ของเชียงใหม่
การอพยพมาอยู่เมืองฝางครั้งนี้ราษฎรเกรงสัตว์ร้ายจึงออกไปทำไร่ทำนาไม่ได้ สัตว์ร้ายมากเช่นเสือ ช้าง ฯลฯ ราษฎรเกรงสัตว์ร้ายจึงออกไปทำไร่ทำนาไม่ได้ อดอยากแก้ปัญหาไม่ได้ พญาสิรุโยยศ ก็ทรงทูลให้พระเจ้าอินทรวิชยานนท์ ได้ทรงทาบ พระองค์จึงส่ง เจ้ามหาวงษ์ แม่ริมพร้อมด้วยครอบครัว ภรรยาเจ้าหลวงมหาวงษ์ชื่อ เจ้าแม่กัลยา มีเจ้าคำตั๋น น้องชายเจ้าน้อยหาวงษ์ เจ้าแก้วมุงเมืองบุตรชาย และบริวารมีพญาพิทักษ์ ท้าวเสมอใจ ท้าวธนูแสนเมืองพร้าว พรอ้มด้วย ข้าทาสประมาณ 25 ครัวเรือน และได้นิมนต์ พระเกษรปรมติคณาจารย์มาเป็นเจ้าคณะสงฆ์เมืองฝาง การอพยพครั้งนั้นใช้ช้าง 50 เชือก เดินทางมาทางอำภอพร้าว มาทางถ้ำตับเตา
เจ้าน้อยมมหาวงษ์ได้ปรับปรุงพัฒนาเมืองฝาง เจริญก้าวหน้าจนได้รับตำแหน่ง นายอำเภอฝางคนแรกมีบรรดาศักดิ์เป็นอำมาตย์เอกพระยามหิทาวงษาราชาธิบดี เจ้าคำตั๋น เป็นปลัดขวา ตำแหน่ง รองอำมาตย์เอกพระยาราชราชวงค์ เจ้าแก้วมุงเมืองเป็นปลัดซ้าย ตำแหน่ง รองอำมาตย์เอก พระยาราชบุตร ในรัชการที่ 5 เจ้าน้อยมหาวงษ์ ได้พัฒนา ปรับปรุงอำเภอฝาง เจริญก้าวหน้า เหตุการณ์สำคัญ ในการปกครองคือได้แบ่งเขตการปกครอง อำเภอฝาง เป็น 7 แคว้นคือ
- แคว้นในเวียง
- แคว้นม่อนปิ่น
- แคว้นแม่สาว
- แคว้นแม่งอน
- แคว้นแม่มะลบ
- แคว้นแม่สูน
แคว้นแม่นาวาง (ตำบลแม่นาวางในอดีต)
แคว้นแม่นาวาง ตั้งอยู่ทิศตะวันออกของลำน้ำฝางและแม่น้ำสายหลักคือแม่น้ำแม่นาวาง ซึ่งแคว้นแม่นาวางประกอบด้วย ตำบลสันต้นหมื้อ ตำบลแม่นาวาง ตำบลบ้านหลวง(ในปัจจุบัน) แรกเริ่มเดิมทีมีผู้คนตั้งอยู่บ้านกลาง สันปอธง ตั้งเป็นตำบลแม่นาวาง (แคว้น) ในสมัยเจ้าหลวงมหาวงษ์ นายอำเภอฝาง คนแรก พ่อแคว้นชื่อ ขุนแม่วางวรกิจ เดิมชื่อ หนานอินไชย อพยพมาจากอำเภอพร้าว ขุนแม่นาวางวรกิจเป็นคนดี จิตใจโอบอ้อมอารี ใจกล้าหาญ ได้เป็นพ่อแคว้นแหครองให้ความเป็นธรรม ได้พัฒนาท้องถิ่นให้เจริญ ผู้คนได้ทราบข่าวก็อพยพมาอยู่ในแคว้นแม่นาวาง อีกประการหนึ่งแคว้นแม่นาวางมีพื้นดินอุดมสมบูรณ์ มีพื้นดินมากมาย จนมีหมู่บ้านผสมคนไทยเมือแหละไทยใหญ่ทางทิศเหนือ คือบ้านคาย (คายเป็นภาษาไทยใหญ่แปลว่าหนองน้ำขนาดใหญ่) ต่อมามีญาติสนิทของขุนแม่วางวรกิจ มาจากบ้านท่ามะเกี๋ยงเมืองพร้าว ตามมาอยู่ด้วย ขุนแม่วาง วรกิจจึงให้ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ บ้านคาย เพื่อเป็นหัวหน้าขุนแม่นาวาง ก็ได้พัฒนาแคว้นแม่นาวาง จนกลายเป็นตำบลที่ใหญ่เทียบเท่าแคว้นแม่สูน ซึ่งต่อมารัฐบาลได้มีการใช้คำว่า ตำบลแทนชื่อแคว้นต่าง ๆ ซึ่งสมัยก่อนเรียกพ่อแคว้น ต่อมา เพี้ยนเป็นพ่อแคว่น และเขียนไว้ว่าได้รับคำบออกเล่าจากบุตรหลานของขุนแม่นาวางวรกิจ คือพ่อแก้ว วรกิจ บ้านอยู่บ้านกลาง สันปอธง และพ่อน้อยรส วรกิจ บ้านคาย ส่วนบ้านคายชื่อเดิม บ้านทุ่งฟ้าฮ่าม
อำเภอแม่อาย – ตำบลบ้านหลวง
ต่อมาปี 2510 ทางรัฐบาลก็จัดตั้งเป็นกิ่งอำเภอแม่อาย ประกอบด้วย ตำบลแม่นาวาง ตำบลแม่สาว เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2510 ตามประกาศของกระทรวงมหาดไทยและได้รับยกฐานะเป็นอำเภอแม่อาย วันที่ 28 มิถุนายน 2516 ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยประกอบด้วย ตำบลแม่นาวาง ตำบลแม่อาย ตำบลแม่สาว ต่อมาในปี พ.ศ. 2511 ตำบลแม่นาวางได้ถูกแยกออกเป็น 1 ตำบล คือ ตำบลสันต้นหมื้อ ในปี พ.ศ. 2523 ราษฎรและผู้นำ พร้อมด้วยแกนนำประกอบด้วย ผู้ใหญ่บ้าน ครูผู้บริหารในสามโรงเรียน คือ โรงเรียนบ้านหลวง โรงเรียนบ้านป่าก๊อ โรงเรียนบ้านป่าแดง ได้ทำการสอบถามและสำรวจความคิดเห็น ราษฎรทั้ง 3 หมู่บ้าน ว่าต้องการจะแยกออกจากตำบลสันต้นหมื้อ มาตั้งตำบลใหม่ ด้วยเหตุผลหลายประการดังนี้
1. การพัฒนาหมู่บ้านหรือการปกครองซึ่งสมัยนั้นยังเป็นสภาตำบลอยู่ ตกอยู่ในกำนันหรือทีมงานตำบลสันต้นหมื้อ 3 หมู่บ้านมีเสียงข้างน้อย งบประมาณต่างๆจึงไม่ได้นำมาพัฒนาทั้ง 3 หมู่บ้าน
2. การติดต่อของราษฎรไม่ว่าการแจ้งเกิด หรือจัดทำบัตรประชาชน ต้องไปติดต่อที่กำนันตำบลสันต้นหมื้อ ลำบากแก่คนที่ไม่มียานพาหะนะไปติดต่อ ต้องเดินเท้าไป
3. เพื่อเป็นการสะดวก ต่อการพัฒนา ในด้านต่าง ๆ รวมทั้งการวางผังเมืองของตำบลและหมู่บ้าน การขยายเส้นทางภายในตำบลหรือการดำเนินการใด ๆ ถูกต้องตามความต้องการ ของคนในชุมชนขึ้นดังนั้นทางราษฎรจึงได้ส่งเรื่องไปยังอำเภอแม่อาย และได้รับการยกระดับให้เป็นตำบล ในปี 2523 ชื่อ ตำบลบ้านหลวง ประกอบด้วย 5 หมู่บ้าน คือ บ้านหลวง หมู่ 1 บ้านป่าแดด หมู่ 2 บ้านสันห้าง หมู่ 3 บ้านป่าก๊อ หมู่ 4 บ้านป่าแดง หมู่ 5 ในปี 2535 ตำบลบ้านหลวงมีหมู่บ้านเพิ่มขึ้นอีก 1 หมู่บ้านคือ บ้านใหม์โพธิ์งาม หมู่ที่ 6 โดยแยกหมู่บ้านไปจากบ้านป่าก๊อ พ.ศ. 2537 มีบ้านที่ได้รับการแยกหมู่บ้านอีก 1 หมู่บ้าน คือบ้านจัดสรรเป็น หมู่ 7 โดยมาจากบ้านหลวง หมู่ 1 ต่อมาในปี 2543 ได้แก่หมู่บ้านอีก 2 หมู่บ้าน คือบ้านใหม่ทรายคำ หมู่ 8 บ้านป่าแดงอภิวัฒน์ หมู่ 9 โดยแยกมาจากหมู่ 5 บ้านป่าแดง ในปี พ.ศ. 2544 มีหมู่บ้านในความปกครองของตำบลบ้านหลวง แยกเพิ่มอีกหนึ่งหมู่บ้านโดยแยกออกจากบ้านใหม่ทรายคำ หมู่ที่ 8 คือบ้านโปงพัฒนา หมู่ 10 จนกระทั่งถึงปัจจุบัน หมู่บ้านจำนวน 10 บ้าน คือ
หมู่ที่ 1 บ้านหลวง หมู่ที่ 6 บ้านใหม่โพธิ์งาม
หมู่ที่ 2 บ้านป่าแดด หมู่ที่ 7 บ้านจัดสรร
หมู่ที่ 3 บ้านสันห้าง หมู่มี 8 บ้านใหม่ทรายคำ
หมู่ที่ 4 บ้านป่าก๊อ หมู่ที่ 9 บ้านป่าแดงอภิวัฒน์
หมู่ที่ 5 บ้านป่าแดง หมู่ที่ 10 บ้านโปงพัฒนา
เอกสารค้นคว้าที่อ้างอิง-ประวัติเมืองฝางของอาจารย์อินศวร แย้มแสง
- สงวน โชติสุขรัตน์ ประวัติไชยปราการ เมืองฝาง สงวนการพิมม์ ชม.2512
- คลังความรู้ อำเภอแม่อาย คลังความรู้ใน IT
- อาจ สารปิน ปราชญ์ชาวบ้าน
นายประพันธ์ พลายจันทร์ 73 หมู่ที่ 9 บ้านป่าแดงอภิวัฒน์ บ้านหลวง อ.แม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ผู้ รวบรวมเพื่อเป็นองค์ความรู้ และศึกษาตำนาน ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชุมชนตำบลบ้านหลวง อ.แม่อาย จ. เชียงใหม่ และเพื่อเป็นวิทยาทานให้คนรุ่นหลังได้ศึกษา เพิ่มเติม แก้ไข เพื่อความถูกต้องต่อไป